รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนพฤศจิกายน ที่พึ่งรายงานไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้วสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดลงทุนอยู่พอสมควร และตัวเลขดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นเพียง 210,000 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับ 531,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคมนั้นสวนทางกับคำพูดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ดูเหมือนจะมั่นใจมากพอจนกล้าวางแผนที่จะเริ่มร่นระยะเวลาการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเหตุผลที่ตัวเลขการจ้างงานฯ ครั้งนี้หดตัวลดลงเป็นเพราะการกลับมาอีกครั้งของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ครั้งนี้มาในสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า “โอไมครอน” ในขณะที่นักวิเคราะห์บางกลุ่มเชื่อว่าเป็นเพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ถึงแม้ว่าตัวเลขการจ้างงานฯ จะเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียว แต่อัตราการว่างงานกลับลดลงจาก 4.6% เหลือเพียง 4.2% สาเหตุที่ตัวเลขกการว่างงานลดลงอาจเป็นความสำเร็จมาตรการของภาครัฐ ที่ช่วยเหลือให้ผู้ที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ที่สำคัญ ยังเป็นไปได้ที่ช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้ามีส่วนกับการเรียกความเชื่อมั่นในการบริโภคให้ฟื้นตัวกลับคืนมา เมื่อผู้บริโภคกลับมา การจ้างงานก็กลับคืนตามมาด้วย
หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ถูกประกาศออกไป ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและยอดคำสั่งซื้อจากโรงงานในเดือนตุลาคมก็ออกมาดีมากกว่าที่คาดการณ์ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่สำนักข่าวหลายแห่งยังลงความเห็นกันว่าเดือนธันวาคมนี้อาจจะยังเป็นเดือนที่ดีของเศรษฐกิจอยู่ การคาดการณ์ดังกล่าวถือเป็นข่าวดีในระยะสั้น และทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังสามารถยืนเหนือ 96 จุดได้ในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่ากราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐอาจปรับตัวลดลงไปวิ่งต่ำกว่า 95.52 ได้ในช่วงต้นสัปดาห์ เพราะสหรัฐฯ จะยังไม่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ทำให้สกุลเงินอื่นๆ แข็งค่าสู้ดอลลาร์สหรัฐเล็กน้อย
ข่าวที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่การรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคมนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าดัชนีวัดเงินเฟ้อ และเป็นหนึ่งในสี่มาตรวัดเศรษฐกิจสำคัญของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตลาดการเงินจึงจะจับตาว่าตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อจากเดือนตุลาคมอยู่หรือไม่ นักวิเคราะห์คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ CPI ของเดือนพฤศจิกายนจะออกมาอยู่ที่ 6.7% เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ 6.2% หากเป็นเช่นนั้นจริง จะยิ่งสร้างแรงกดดันไปยังธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น ที่สำคัญ ตัวเลขดังกล่าวจะออกมาก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งสุดท้ายของปี 2021 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่หดตัวลดลง และตัวเลขเงินเฟ้อ จะต้องส่งผลกับการประชุมของเฟดในสัปดาห์หน้าอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา ในต่างประเทศก็มีประเด็นที่นักลงทุนควรให้ความสนใจอยู่เช่นกัน การประชุมอัตราดอกเบี้่ยของธนาคารกลางออสเตรเลียและแคนาดาที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้นั้น ตลาดลงทุนเชื่อว่าทั่งคู่จะคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ดังเดิม แต่ถ้าธนาคารกลางฯ ทั้งสองยืนยันที่จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว จะส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและแคนาดาแข็งค่าสู้กับดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์ในปัจจุบัน กราฟ AUD/USD ได้ปรับตัวลดลงไปทดสอบจุดต่ำสุดของเดือนตุลาคม หากหลุดแนวรับ 0.6835 ลงไปได้ มีโอกาสที่ราคาจะลงไปทดสอบแนวรับ 0.6770 โดยมีแนวต้านอยู่ที่ 0.7060 สำหรับดอลลาร์แคนาดา ถ้าหากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น สวนทางกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง กราฟ USDCAD มีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 1.2957 หรือ 1.30