ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้เริ่มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเมื่อวานนี้ 50 จุดเบสิส ซึ่งถือเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1995 การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่สกุลเงินอื่น ๆ ในตลาด แม้จะเป็นขาขึ้นในระยะสั้นก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารอังกฤษ (MPC) ลงมติเกือบเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิส ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของอังกฤษเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.25% เป็น 1.75% นับเป็นการขึ้นอัตราเดียวที่สำคัญที่สุดในรอบ 27 ปี
ในการประชุมของ MPC มีเพียง Silvana Tenreyro คนเดียวเท่านั้นที่โหวตให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพียง 25 จุดเบสิส ในขณะที่คณะกรรมการคนอื่นๆ สนับสนุนให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิส เมื่อพูดถึงเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ MPC กล่าวว่าเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ราคาขายส่งก๊าซเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่านับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ต้นทุนอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน
การตัดสินใจของ MPC อ้างอิงมาจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษ ที่ขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ตัวเลขล่าสุดในเดือนมิถุนายนคือ 9.4% ซึ่งมากกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของคณะกรรมการฯ ที่ 2% แล้วถึงสี่เท่า ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกจึงจำเป็นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ MPC ยังแสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยของประเทศที่อาจเกิดขึ้น พวกเขาคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจขึ้นได้สูงสุดที่ 13.3% ในเดือนตุลาคม และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับนั้นไปจนถึงปี 2023 ก่อนที่กลับลงมาสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางฯ ที่ 2% ในปี 2025
MPC กับมุมมองที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
MPC คาดการณ์ว่าอังกฤษจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2022 และจะกินเวลาโดยประมาณทั้งหมดห้าไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลจะต่อสู้กับภาวะถดถอยตลอดปี 2023 และ 2024 ภาวะถดถอยที่คณะกรรมการฯ ประเมินเอาไว้จะคล้ายกันกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่เคยเห็นมาแล้วในทศวรรษ 1990 แต่ผลที่ตามมาจะต่างออกไปก็จากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 และการชะลอของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดในปี 2008 -2009 MPC เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 และหดตัวตลอดปี 2023 นี่จะเป็นภาวะถดถอยที่ยาวนานที่สุดหลังจากวิกฤตการเงินโลก
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ระบุว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศตอนนี้คือ “ความไม่แน่นอน” ซึ่งอาจทำให้การชะลอตัวรุนแรงมากหรือน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ MPC เชื่อว่าปัจจัยนี้จะเป็นตัวกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการวางนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่อไป ในการนิยามคำว่า “นโยบายการเงินไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า” พวกเขาสรุปเอาไว้ดังนี้:
“ขนาด จังหวะ และระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในการเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ BoE จะสะท้อนถึงการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ”
ผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
คณะกรรมการนโยบายการเงินได้พิจารณาภาพรวมของตลาดแรงงานอังกฤษแล้วว่ามีความสามารถในการทนต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต แม้จะมีแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในประเทศและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง MPC อ้างอิงความเชื่อนี้จาก อัตราการว่างงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 3.8% หลังจากการประชุมในเดือนกันยายน BoE ยังประกาศว่าจะมีการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมหาศาล คิดเป็นมูลค่า 844 พันล้านปอนด์ โดยหวังว่าจะมียอดขายประมาณ 10 พันล้านปอนด์ต่อไตรมาส
ปฏิกริยาของตลาดที่มีต่อการขึ้นดอกเบี้ย 50 bps
ยังไม่มีปฏิกิริยาของตลาดต่อข่าวดังกล่าวที่มีนัยสำคัญ สาเหตุเป็นเพราะว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิสเป็นสิ่งที่ตลาดประเมินเอาไว้แล้วว่า BoE ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องวางนโยบายการเงินเช่นนี้ นักลงทุนบางคนซึ่งรอผลการประชุมในวันนี้ถึงขั้นเข้าซื้อล่วงหน้าเอาไว้ก่อนแล้ว ทันทีที่ประกาศออกมาว่าขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิส นักลงทุนเหล่านี้ก็จะทำกำไรและออกจากตลาดไป
GBPUSD ไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนักหลังจากนี้จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิส แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกครั้งแรกสำหรับเงินปอนด์ แต่ก็ยังไม่มากเท่ากับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps สองครั้งติดต่อกันของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่ามากในช่วงก่อนหน้านี้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนบางกลุ่มถึงมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิสยังไม่ถือว่ามากเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม เรายังเชื่อว่าเงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากข่าวนี้ในระยะสั้น
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อ GPBUSD และ GBPJPY อย่างไร?
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน 50 จุดเบสิสจะทำให้เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่สกุลเงินอื่นๆ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น
GBPUSD กำลังปรับตัวกลับขึ้นมาอีกครั้งหลังจากการเทขายเมื่อวานนี้ ขาลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนว่า BoE จะกล้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิส แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 75 จุดเบสิสก็ตาม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราคาดว่า GBPUSD จะค่อยๆ ฟื้นตัวในเดือนสิงหาคม เช่นเดียวกับ GBPJPY ที่กำลังวิ่งกลับขึ้นจากการเทขายครั้งใหญ่เมื่อวานนี้
โดยสรุปแล้ว
อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2022 และอาจจะทำจุดสูงสุดที่ 13% ถือเป็นความท้าทายสำหรับธนาคารอังกฤษเป็นอย่างมาก พวกเขาจะทำอย่างไรในการทำให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตโดยไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนักลงทุนจึงควรเตรียมพร้อมและรอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปของคณะกรรมการฯ ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมิถุนายนมีตัวเลขอยู่ที่ 9.4% การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงขึ้นอาตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นักลงทุนบางกลุ่มคาดการณ์ว่าการประชุมครั้งต่อไปของ MPC ในเดือนกันยายนจะเพิ่มขึ้น 25 จุดเบสิส แต่จะขึ้นดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหนนั้น จะขึ้นอยู่กับผลของรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม