ราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม ราคาน้ำมันดิบเบรนต์เคยขึ้นสูงเป็น 102.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะปรับตัวลดลง ในช่วงวันที่ 2-5 กันยายน ราคาน้ำมันดิบ WTI สามารถดีดตัวขึ้นจาก 86.56 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็น 88.60 ดอลลาร์/บาร์เรล เช่นเดียวกับเบรนท์ที่สามารถเพิ่มขึ้นจาก 92.66 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็น 95.13 ดอลลาร์/บาร์เรล
ต่อมา กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) ตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมด ที่ส่งให้กับเศรษฐกิจโลกลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ราคาน้ำมันจะลดลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอย แต่กลุ่ม OPEC+ เลือกที่จะลดการผลิตเล็กน้อยเพื่อหนุนราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาดูผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปลายเดือนนี้ หากธนาคารกลางทั้งสองยังคงต้องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก ราคาน้ำมันก็อาจยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีเพิ่มมากขึ้น สภาพคล่องของตลาดอาจลดลงและกดดันราคาน้ำมันต่อไป
เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบได้รับผลกระทบจากการเมืองและเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ ราคาก๊าซธรรมชาติจึงพุ่งขึ้นเกือบ 30% หลังจากที่รัสเซียประกาศว่าจำเป็นต้องปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream เพื่อซ่อมบำรุงอย่างไม่มีกำหนด ข่าวการ “ลดอุปทาน” จะยังคงกดดันราคาพลังงานในยุโรปต่อไปและทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดก็ยังมีข่าวร้ายกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวเกี่ยวกับอิหร่านที่อาจกลับมาส่งออกน้ำมันได้ แต่ข่าวนี้ในปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าของการเจรจานิวเคลียร์มากเท่าไหร่นัก ทั้งสหรัฐฯ และอิหร่านต่างมีจุดยืนที่แตกต่างกัน และยังไม่ทราบว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในขั้นสุดท้ายได้หรือไม่
ถ้อยแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ในการประชุมเฟดครั้งล่าสุดได้พูดถึงความจำเป็นในการดำเนินมาตรการทำดอกเบี้ยนโยบายเชิงรุกใน “ช่วงระยะเวลาหนึ่ง” ความคิดเห็นดังกล่าวถือเป็นการทำลายความหวังของตลาดเกี่ยวกับการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ภาพรวมตลาดเช่นนี้อาจดำเนินต่อไปในระยะสั้น สัปดาห์นี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับถ้อยแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และรายงานสรุปภาวะทางเศรษฐกิจจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed Beige Book) ที่จะสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอเมริกา สำหรับนักลงทุนน้ำมันดิบ ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องประมาณการระยะเวลาที่เฟดจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ได้ เพราะจังหวะนั้นคือโอกาสให้ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวขึ้น
แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง แต่คาดว่าอาจไปได้ไม่ไกล แต่ในระยะกลางและระยะยาว นักลงทุนต้องให้ความสนใจกับปัจจัยที่อาจทำให้ราคาน้ำมันร่วงลงมา จากมุมมองฝั่งซัพพลาย แม้ว่าจะข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านจะบรรลุผล แต่การผลิตและการส่งออกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาของอิหร่านไม่อาจชดเชยช่องว่างที่เกิดจากการลดซัพพลายน้ำมันของรัสเซีย และปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ที่ลดลง ช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกกำลังจะมีความต้องการใช้พลังงานสูงสุดอย่างงฤดูหนาวกำลังใกล้จะมาถึง ท่ามกลางอุปทานน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ยังคงตึงตัว ความกังวลของตลาดเกี่ยวกับวิกฤตซัพพลายพลังงานอาจช่วยหนุนราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกอาจลดกำลังการผลิตน้พมันอีกครั้งเพื่อกระตุ้นราคาน้ำมันในอนาคต ดังนั้น นักลงทุนควรให้ความสนใจกับการประชุม OPEC+ ครั้งต่อไปในวันที่ 5 ตุลาคม
ดังนั้น เราจึงคาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงผันผวนในระยะสั้นและราคาน้ำมันจะยังคงปรับตัวลดลงต่อไป อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ในระยะสั้นจะเป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยืนยันระดับอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินในช่วงปลายปีนี้ ในปัจจุบันความต้องการพลังงานยังไม่มีความแน่นอน แต่ที่เห็นชัดแน่ๆ คือการใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้นของผู้บริโภคเพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ยังไม่ชัดเจนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ หดตัวมากน้อยเพียงใด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี ตราบใดที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจของโลกยังคงย่ำแย่ ราคาน้ำมันดิบก็ยังคงจะมีปัจจัยกดดันตลาดต่อไป