การทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 24 ปีของดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ได้ทำให้คู่กราฟ USDJPY ในช่วงนี้ปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เราได้เห็นกราฟคู่นี้ย่อตัวลดลง เชื่อว่าการย่อลงมาครั้งนี้เพื่อรอการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐอเมริกาที่จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของสกุลเงินดอลลาร์
ภาพกราฟ USDJPY รายวัน
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ คาดว่าจะลดลงเหลือ 8.0% จาก 8.5% หากเป็นเช่นนั้น อาจส่งผลให้นักลงทุนขายเงินดอลลาร์ออกเพราะนั้นจะยิ่งตอกย้ำความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้ออเมริกาได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่ิองไปยังความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง
อีกข่าวหนึ่งที่อาจมีอิทธิพลต่อค่าเงินเยนคือความคิดเห็นล่าสุดจากเซจิ คิฮาระ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ที่บอกเป็นนัยถึงความเป็นไปได้ในการแทรกแซงค่าเงินจากรัฐบาล คุณคิฮาระกล่าวว่ารัฐบาลจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มนักท่องเที่ยว เพื่อเปิดพรมแดนของญี่ปุ่นแก่ผู้มาเยือนจากต่างประเทศ “ในอนาคตอันใกล้นี้”
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินเยนในช่วงนี้ ท่านรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า“เป็นการอ่อนค่าของเงินเยนเพียงข้างเดียวมากเกินไป เราจะจับตาดูทิศทางการอ่อนค่านี้ในอนาคตอย่างใกล้ชิดและต้องดำเนินการตามความจำเป็น ผมจะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากนโยบายดังกล่าวอยู่ภายในขอบเขตอำนาจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)”
หนังสือพิมพ์ Nikkei รายงานว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะยกเลิกการจำกัดจำนวนผู้มาเยือนญี่ปุ่นภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งคุณคิฮาระกล่าวว่าเงินเยนที่อ่อนค่ากลับกลายเป็นข้อดีในแง่ของการดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่รัฐบาลก็ต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
เงินเยนได้รับผลกระทบจากการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษของ BOJ ซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ได้ใช้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก ซึ่งความต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายนี้เองที่ทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าในปัจจุบัน
แหล่งข่าวของกระทรวงการคลังให้ข้อมูลกับ Yahoo Finance ว่า BOJ ยังไม่มีแผนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือปรับเปลี่ยนแนวทางการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเงินเยน